นายแพน สุขิโต เกิดวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ปัจจุบันอายุ ๗๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๙/๑ หมู่ ๗ ตำบลเกาะขวาง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนตำบลเกาะขวางโดยกำเนิด จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียน วัดเกาะขวาง อดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ ตำบลเกาะขวางเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ สมรสกับนางสังวาลย์ สุขิโต มีบุตรชาย ๓ คน ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ คน
ไม่ได้รับการถ่ายทอดหรือสืบทอดจากใคร เพียงแต่แรกๆร้องกันเองตามงานศพ เพื่ออยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพงานศพ แล้วนำมาประยุกต์ขึ้นมาเป็นรำสวดในปี ๒๕๔๒ แต่ส่วนใหญ่แล้ววิธีถ่ายทอดความรู้ของรำสวดจะมี ๒ ลักษณะ คือ หัวหน้าคณะจะถ่ายทอดให้ญาติพี่น้องลูกหลาน หรืออาจเป็นแบบครูพักลักจำ แต่ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดให้กับนักเรียนที่สนใจ ภายหลังได้ประยุกต์มาเป็นการรำขวัญจันทบูร เพื่อใช้ในงานมงคลได้
รำสวด มีประวัติความเป็นมาที่บอกเล่าสืบกันมาว่าเป็นเพลงพื้นบ้านที่ใช้แสดงหลังมีพิธีสวดพระอภิธรรม ซึ่งการทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพถือว่าเป็นประเพณีที่จะต้องทดแทนพระคุณของผู้ตาย ประเพณีการ ทำศพ ลูกหลานจึงต้องทำด้วยความตั้งใจเพื่อให้ผู้ตายได้รับความสุข และเป็นเกียรติยศเชิดชูผู้ตาย ในอดีตเมื่อผู้ตายที่เรารักเคารพตายลงจึงมักนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม เมื่อสวดพระอภิธรรมเรียบร้อยแล้วในสมัยก่อน พระภิกษุสงฆ์จะสวดพระมาลัยต่อ เพื่อเป็นเพื่อนศพและเจ้าภาพ คนสมัยนั้นจะนิยมฟังเพราะมีลีลา จังหวะการสวดที่มีท่วงทำนองสนุกสนานเพลิดเพลิน ต่อมาใช้ฆราวาสสวดยิ่งเพิ่มความตลกคะนอง และเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ คนในภาคตะวันออกมีการปรับเปลี่ยนให้เป็น “รำสวด”
รำสวด จึงเป็นเพลงพื้นบ้านของภาคตะวันออกที่เป็นที่นิยมกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราดมาจนถึงทุกวันนี้ วิธีการแสดงรำสวด ในแต่ละคณะจะมีการแสดงที่ไม่แตกต่างกันมากนัก การแต่งกายเป็นชุดไว้ทุกข์สีขาวดำ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุงพื้นบ้าน ส่วนผู้ชายจะนุ่งกางเกง หรืออาจใส่ชุดที่มีอยู่ มีข้อจำกัดคือ ไม่ใส่เสื้อลายถือว่าไม่สุภาพ แต่เมื่อจะแสดงต้องมีผ้าสีมาคล้องคอ ทั้งหญิงและชาย แต่ผู้ชายอาจผูกเอวก็ได้ โดยจะแสดงหลังจากพิธีสวดพระอภิธรรมศพเรียบร้อยประมาณ ๒๑.๐๐ น.จนถึงประมาณ ๐๔.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ในสมัยก่อนจะแสดงในงานศพเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนจ้างไปแสดงในงานอื่นๆบ้างเช่น งานที่เป็นงานอันเกี่ยวเนื่องกับการตาย ทำบุญให้ผู้ตายเมื่อครบรอบแต่ละปี หรือโอกาสที่ลูกหลานระลึกถึงผู้ตาย ค่าตอบแทน คณะรำสวดจะไม่คิดค่าตอบแทน เพราะถือว่าเป็นการช่วยงาน เพียงเจ้าภาพให้เป็นค่าน้ำมันรถก็พอใจแล้ว แต่บางคณะจะเรียกค่าตอบแทนครั้งละ ๓,๐๐๐ บาทอันที่จริงการเรียก ๓,๐๐๐ บาทก็แทบไม่ได้อะไรหักค่าน้ำมันแล้วอาจจะได้คนละ ๑๐๐ บาท หรือไม่ถึงร้อยบาท
รำสวดเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมของ คนภาคตะวันออกที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ทั้งด้านการแต่งคำประพันธ์ การประดิษฐ์คิดค้นท่ารำ และการร้องเพลงด้วยทำนองเพลงไทยเดิมอันเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มคนให้คงคุณค่าในด้านค่านิยมในสังคม และหลักปฏิบัติอันดีที่แสดงความรักความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ นอกจากนี้ยังคงไว้ในด้านความเชื่อทางพุทธศาสนา และความรักสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะที่มีน้ำใจเกื้อกูลกัน